วันศุกร์ที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2553

เคล็ดลับ 10 ประการเพื่อผมสวย


เคล็ดลับ 10 ประการเพื่อผมสวย

เคล็ดลับการดูแลผมซึ่งสามารถใช้ได้กับผมปกติ เพื่อที่เส้นผมเหล่านี้จะอยู่กับคุณต่อไปได้นานๆ
โดย นพ.ชูชัย ตั้งเลิศสัมพันธ์

คนส่วนมากมักมาพบแพทย์ผิว หนังด้วยเรื่องปัญหาผมร่วงหรือผมบางซึ่งมีสาเหตุมากมาย เช่น ผมร่วงเฉพาะที่ (Alopecia areta) ผมบางแบบกรรมพันธุ์ ผมร่วงจากความเครียด เป็นต้น ซึ่งการรักษาส่วนมากต้องใช้เวลาหลายสัปดาห์หรือหลายเดือน และระหว่างนี้คนเหล่านี้ก็มักจะถามว่าควรดูแลสุขภาพผมให้ดีได้อย่างไร? ซึ่งเป็นคำถามที่แพทย์ผิวหนังจะโดนถามบ่อยมาก ผมจึงรวบรวม ครับ

อย่ายุ่งกับผมมากนัก
เวลาที่คุณไปร้านทำผมนั้น ช่างทำผมมักแนะนำให้ทำผมต่างๆ มากมายนอกจากการสระหรือตัดผม เช่น ย้อม ดัด หมัก และในปัจจุบันมีการทำสปาหนังศีรษะและผมอีก ซึ่งผมมักแนะนำว่าให้ทำได้แต่อย่าทำบ่อยเกินไป อย่าลืมว่าผมของคุณนั้นเป็นส่วนที่ตายแล้ว ถ้าคุณไปดัดหรือย้อมผมมากเกินไปจนเสียแตกหรือหักแล้วก็ไม่สามารถจะซ่อมแซม ได้ครับ

เลือกหวี (comb) ที่ดี
สิ่งที่ทำอันตรายต่อเส้นผมหรือหนังศีรษะที่สำคัญประการหนึ่งคือการหวีผม เพราะเป็นสิ่งที่เราทุกคนต้องทำเป็นประจำทุกวัน ก่อนอื่นควรเลือกหวีที่มีฟันกว้างพอสมควร เพราะถ้าคุณเลือกหวีที่ฟันแคบไปก็จะเป็นอันตรายต่อเส้นผมหรือหนังศีรษะได้ และถ้าสามารถเลือกหวีที่มีสารเทฟลอน (Teflon) เคลือบไว้ที่ฟันด้วยก็จะช่วยลดแรงเสียดทานต่างๆ ได้มากขึ้นด้วย
นอกจากนี้ยังมีความเชื่อที่ว่าต้องหวีผมให้ได้ถึงวันละ 100 หนเพื่อให้ผมมีสุขภาพที่ดี เป็นความเชื่อที่ผิดนะครับ เพราะถ้าคุณหวีวันละ 100 หนเป็นเวลานานๆ ผมจะร่วงมากกว่าครับ เพราะเป็นการทำอันตรายต่อเส้นผมและหนังศีรษะ โดยทั่วไปผมแนะนำให้หวีวันละ 5-10 ครั้งก็พอแล้ว

เลือกแปรง (brush) ที่ดี
ลักษณะของแปรงผมที่ดี ควรมีตัวฟันแปรงห่างกันพอสมควร และทำด้วยพลาสติกที่มีปลายเป็นจุดบอลเล็กๆ ติดอยู่เพื่อลดโอกาสที่จะขีดข่วนทำอันตรายต่อหนังศีรษะของคุณ ปัจจุบันแปรงที่กำลังนิยมกันมากคือแปรงที่ทำจากไม้ซี่เล็กๆ มีปลายค่อนข้างแหลม เพราะเชื่อว่าเป็นผลิตธรรมชาติที่ดี ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ผิดครับ วิธีง่ายๆ ในการเลือกซื้อก็คือลองแปรงผมของคุณ ถ้าคุณรู้สึกเจ็บหรือปวดก็แสดงว่าแปรงนั้นไม่เหมาะกับหนังศีรษะของคุณ

อย่าหวีผมตอนผมเปียก
เวลาหลังสระผมนั้นผมมักจะเปียกและพันกัน คนส่วนมากมักจะหวีหรือแปรงผมเพื่อที่จะให้ผมดูดี แต่เวลาที่ผมเปียกนั้นเป็นช่วงที่เส้นผมจะอ่อนแอมากไม่ควรไปทำอะไรกับเส้นผม ช่วงนั้นมาก อาจจะใช้นิ้วมือช่วยสางผมจากโคนผมถึงปลายผม และเมื่อเวลาที่ผมเกือบแห้งแล้วจึงค่อยใช้หวีหรือแปรงผมจะดีกว่าครับ

ไม่ควรเป่าผมด้วยความร้อน
คนส่วนใหญ่นิยมเป่าผมให้แห้งโดยใช้ความร้อนสูง โดยใช้เครื่องเป่าผมที่บ้านหรือใช้ที่ครอบผม (hood) ในร้านทำผม ซึ่งเป็นความคิดที่ผิดเพราะความร้อนจะสลายเส้นผมได้ และทำให้น้ำในเส้นผมระเหยออกอย่างรวดเร็ว ทำให้เกิด “bubble hair” ซึ่งจะทำให้เส้นผมแตกหักได้ ความจริงแล้วควรใช้ที่เป่าผมให้ลมออกมาในอุณหภูมิปกติ (แต่ผู้ใช้ส่วนมากมักไม่ชอบ) ผมจึงแนะนำให้ใช้ความร้อนน้อยที่สุดก็แล้วกันครับ

อย่าแกะหรือเกาหนังศีรษะ
ใน คนที่มีรังแคหรือผิวหนังอักเสบที่ศีรษะบางคนจะมีอาการคันที่หนังศีรษะร่วม ด้วย และมักจะคอยแกะหรือเกาทำให้ผมร่วงได้ ซึ่งบางทีจะรักษายากกว่าอาการรังแคเองเสียอีก ถ้าคุณมีรังแคหรือคันศีรษะมาก ควรพบแพทย์ผิวหนังดีกว่า เพราะอาจจำเป็นต้องใช้โลชั่นในกลุ่มของสเตียรอยด์ร่วมกับแชมพูยาสระผม และในรายที่มีอาการคันมากอาจต้องใช้ยา antihistamine ชนิดรับประทานเพื่อช่วยอาการคันในช่วงแรกครับ

ลองใช้ conditioning shampoo ดู
ส่วน มากคนที่มาหาหมอผิวหนังนั้นมักมีผมที่เสียมากพอสมควร การใช้แชมพูที่ผสมครีมนวดผม (conditioner) จะช่วยได้ แต่หมอผิวหนังก็มักแนะนำให้ใช้แยกกันโดยใช้ครีมนวดผม (conditioner) ตามหลังแชมพู

ควรใช้ instant conditioner ตามหลังการสระผม
instant conditioner ก็คือ conditioner ที่ใช้ทันทีหลังสระผม ซึ่งพวกนี้ระยะหลังๆ มักมีสารซิลิโคน (silicon) ประกอบด้วย การใช้ผลิตภัณฑ์เหล่านี้จะช่วยให้สภาพเส้นผมดีขึ้นได้ไม่มากก็น้อยครับ

ลองใช้ deep conditioner อาทิตย์ละหน
การใช้ deep conditioner จะเหมาะกับผมที่ได้รับการดัด ย้อม หรือทำเป็นเส้นตรง โดยการหมักไว้ประมาณ 20-30 นาที ซึ่งมี 2 ชนิด คือ ชนิดน้ำมัน (oil) หรือโปรตีน (protein) โดยมากผมมักแนะนำให้ใช้แบบโปรตีนเพราะใช้ได้ทุกสภาพเส้นผม ส่วนชนิดน้ำมันเหมาะกับผมหยักศกที่ยืดเป็นผมเส้นตรง

ตัดผมเสียที่ปลายผมออกไป
คนส่วนมากมักไม่ค่อยอยากตัดผมที่เสียบริเวณปลายผมทิ้งเพราะอยากเก็บผมไว้ นานๆ แต่หมอผิวหนังมักแนะนำให้ตัดเล็มออกไป เพราะผมที่เสียแล้วไม่มีประโยชน์ แถมยังทำให้ผมฟูฟ่องจัดทรงได้ยากอีกด้วยครับ

อ่าน 10 วิธีดูแลรักษาเส้นผมให้ดีนี้แล้ว อย่าลืมนำไปปฏิบัตินะครับ เพื่อผมสวยสุขภาพแข็งแรงไปได้อีกนาน
ที่มาข้อมูล : นิตยสาร Health Today

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น